วันจันทร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

on Leave a Comment

อรรถประโยชน์หน่วยสุดท้ายกับการพัฒนาข้าราชการระดับสูง

อรรถประโยชน์หน่วยสุดท้ายกับการพัฒนาข้าราชการระดับสูง ทฤษฎีอรรถประโยชน์หน่วยสุดท้ายสะท้อนให้เห็นความซ้ำซ้อน ความซ้ำซาก และความไม่คุ้มค่าของการพัฒนาข้าราชการระดับสูงอย่างไร เชิญหาความสำราญได้ ณ บัดนี้

อรรถประโยชน์หน่วยสุดท้ายกับการพัฒนาข้าราชการระดับสูง

ยีวาเร็น
๙ กันยายน ๒๕๕๒


ความพึงพอใจจากการบริโภค

     เราทราบกันดีอยู่แล้วว่า การมีแก้วแหวนเงินทองและการได้รับบริการเอาอกเอาใจ ทำให้เราเกิดความพึงพอใจ ในทางเศรษฐศาสตร์ เราเรียก ความพึงพอใจที่ได้รับจากการมีการได้หรือการบริโภคสิ่งของและบริการนี้ว่า อรรถประโยชน์ (utility)

     ความรู้สึก เช่น ความรัก ความโลภ ความโกรธ ความหลง ไม่อาจวัดเป็นหน่วยชัดเจน เราไม่อาจบอกได้ว่า ก่อนแต่ง รักเมียกี่หน่วย (Love Unit) หลังแต่ง รักกี่หน่วย แต่เราบอกได้แน่ ๆ ว่า หลังแต่งแล้ว รักมากขึ้น รักน้อยลง หรือรักเท่าเดิม (แต่ตราบชั่วนิรันดร เผื่อเมียมาอ่านเจอเข้า)

     ความพึงพอใจเป็นความรู้สึกประการหนึ่งเช่นกัน แม้เราไม่อาจบอกความพึงพอใจจากการบริโภคเป็นจำนวนหน่วยที่ชัดเจน แต่เราบอกได้ว่า เราพึงพอใจมากขึ้นหรือน้อยลงโดยเปรียบเทียบกับระดับความพึงพอใจก่อนการบริโภค


ความพึงพอใจจากการบริโภคหน่วยหลัง ๆ 

     ความพึงพอใจที่เพิ่มขึ้นจากการมีบ้านหลังแรกกับเมียคนแรก เราเรียกว่า อรรถประโยชน์ที่ได้รับจากบ้านหลังแรก ความพึงพอใจที่เพิ่มขึ้นจากการมีบ้านหลังที่สอง . . . (กับเมียคนเดิม) เราเรียกว่า อรรถประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นจากบ้านหลังที่สอง ความพึงพอใจที่เพิ่มขึ้นจากการบริโภคหน่วยหลัง (บ้านหลังท้าย) นี้ นักเศรษฐศาสตร์ เรียกว่า อรรถประโยชน์หน่วยสุดท้าย (Marginal Utility)


พอเพียงก็เพียงพอ เกินพอก็พาลพัง

     ในการศึกษาระดับความพึงพอใจจากการบริโภค นักเศรษฐศาสตร์พบว่า ความพึงพอใจจากการบริโภคหน่วยหลัง ๆ แม้ในระยะแรกจะเพิ่มขึ้น แต่จะเพิ่มในอัตราน้อยลง เป็นลำดับ จนท้ายที่สุด นอกจากจะไม่เพิ่มแล้ว ความพึงพอใจจะลดลงด้วย นักเศรษฐศาสตร์เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า กฎการลดน้อยถอยลงของอรรถประโยชน์หน่วยสุดท้าย (Law of Diminishing Marginal Utility)

     ขอยกตัวอย่าง การกินก๋วยเตี๋ยวยามหิว เส้นใหญ่แห้งชามแรก ช่วยดับหิว จึงมีคุณค่าต่อเรามาก เส้นเล็กน้ำชามสองมีคุณค่าน้อยลงเพราะเริ่มอิ่มแล้ว เส้นหมี่ต้มยำชามสามอาจเป็นโทษ อิ่มจนจุก ลุกแทบไม่ขึ้น บะหมี่แห้งชามสี่อาจถึงอ้วก ฯลฯ (ไหงล่ะ กินมากชาม สาวงามไม่มอง) โดยสรุป ความพึงพอใจที่เพิ่มขึ้นจากการกินก๋วยเตี๋ยวชามที่สอง มีน้อยกว่าชามแรก ชามที่สามมีน้อยกว่าชามที่สอง ชามที่สี่กลับทำให้ความพึงพอใจลดลง

     สำหรับคนเบี้ยน้อยหอยน้อย เขาอาจเลือกดื่มน้ำเก๊กฮวยเย็นหนึ่งแก้ว แทนการกินเส้นเล็กน้ำชามสองก็ได้ ซึ่งการทำเช่นนั้น นอกจากจะทำให้เขาจ่ายเงินน้อยลงแล้ว ยังทำให้ความพึงพอใจโดยรวมของเขามากกว่าการกินก๋วยเตี๋ยวสองชามด้วย


การลงทุนด้านการพัฒนานักบริหารของราชการไทย

     ราชการไทยมีความเชื่อที่ท้าทายการพิสูจน์ว่า คนที่บริหารส่วนราชการได้ ต้องผ่านการอบรมหลักสูตรนักบริหารก่อน ผู้ใดไม่ผ่าน ผู้นั้นบริหารไม่ได้ ถึงได้ ก็ไม่ดี (ใครที่ผ่านแล้ว แต่บริหารไม่ดี เป็นคนละเรื่องเดียวกัน ไม่ใช่ปัญหาของหลักสูตรและไม่ใช่ความรับผิดชอบของผู้จัดหลักสูตร)

     ความเชื่อนี้ยังไม่มีการพิสูจน์ และไม่มีโอกาสได้พิสูจน์ เพราะตามกติกา ผู้ไม่ผ่านการอบรม จะไม่ได้เป็นผู้บริหาร จึงไม่มีทางรู้ได้ว่า ผู้ไม่ผ่านการอบรม จะบริหารให้ดีได้หรือไม่ ความเชื่อที่ไม่ต้องพิสูจน์นี้แพร่หลายไปทั่วทุกหัวระแหง ดังเห็นได้จาก การมีหลักสูตรอบรมข้าราชการระดับสูงสำหรับข้าราชการประเภทต่าง ๆ ข้าราชการในกระทรวงต่าง ๆ เช่น หลักสูตร วปอ. ปรอ. และ วปม. ของวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร หลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูงของสถาบันพระปกเกล้า หลักสูตรนักบริหารระดับสูงหนึ่ง และหลักสูตรนักบริหารระดับสูงสอง ของ ก.พ. หลักสูตรนักปกครองระดับสูงของวิทยาลัยการปกครอง กระทรวงมหาดไทย หลักสูตรนักบริหารการแพทย์และสาธารณสุขระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุข หลักสูตรนักบริหารการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ระดับสูง ของสถาบันเกษตราธิการ หลักสูตรนักบริหารระดับสูงของสถาบันพระบรมราชชนก หลักสูตรนักบริหารระดับสูง โครงการพัฒนานักบริหารการอุตสาหกรรมของกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นต้น

     ราชการต้องลงทุนในหลักสูตรเหล่านี้ตก ๓ – ๕ แสนบาทต่อคน และถ้ารวมเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และเงินเพิ่มพิเศษรายเดือนที่ผู้เข้ารับการอบรมได้รับอีกประมาณ ๘ หมื่นถึง ๑ แสนบาทต่อเดือน แล้วก็ตกหัวละประมาณ ๕ แสนบาทถึง ๑ ล้านบาท ทั้งนี้ ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายคงที่ต่าง ๆ เช่น ค่าอาคารสถานที่ ฯลฯ ข้าราชการระดับสูง ส่วนใหญ่ผ่านการอบรมในหลักสูตรเหล่านี้มากกว่าหนึ่งหลักสูตร บางคนผ่านสามถึงสี่หลักสูตร ทั้ง ๆ ที่โดยเนื้อหา แต่ละหลักสูตรไม่ต่างกันเป็นนัยสำคัญ ดังเห็นได้จากการที่องค์กรกลางบริหารงานบุคคลต่าง ๆ รับรองว่า หลายหลักสูตรข้างต้นเทียบเคียงกันได้

     ถ้านำกฎการลดน้อยถอยลงของอรรถประโยชน์หน่วยสุดท้ายมาอธิบายกับการลงทุนของรัฐในหลักสูตรเหล่านี้ ก็จะพูดได้ว่า ประโยชน์ที่ได้จากหลักสูตรที่สอง มีค่าน้อยกว่าหลักสูตรแรก จากหลักสูตรที่สามมีน้อยกว่าหลักสูตรที่สอง จากหลักสูตรที่สี่น้อยกว่าหลักสูตรที่สาม และในบางครั้ง การเข้ารับการอบรมเกินหนึ่งหลักสูตร กลับเป็นผลเสียต่อทางราชการ กล่าวคือ ข้าราชการมัวแต่ไปอบรม จนไม่ได้ทำงาน (บริหาร) มัวซ้อมชกลม ไม่ได้ชกจริง ทางราชการจึงเสียโอกาสที่จะรู้ว่า ผู้เข้ารับการอบรมในหลักสูตรนักบริหาร บริหารเป็นหรือเปล่า เพราะไม่เคยบริหาร มีผู้รักษาการในตำแหน่งหรือผู้รักษาราชการแทน บริหารงานแทนให้ตลอด จนผู้เข้ารับการอบรมได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นรองหัวหน้าส่วนราชการ เป็นหัวหน้าส่วนราชการ กว่าจะรู้ว่าบริหารไม่เป็น (เก่งทฤษฎี ไม่เก่งปฏิบัติ) ก็ตอนเป็นหัวหน้าส่วนราชการแล้ว ถึงตอนนั้นก็สายเกินไปที่รู้ว่าหัวหน้าส่วนราชการเป็น “หมูสนามจริง สิงห์สนามซ้อม”

     ถ้าลูกเราได้วุฒิปริญญาตรีบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัยหนึ่งมาหมาด ๆ เราจะยอมเสียเวลาการทำมาหากินของลูกเรา และเราจะยอมเสียเงินส่งให้ลูกเราไปเรียนปริญญาตรีบริหารธุรกิจ (สาขาเดียวกัน) จากมหาวิทยาลัยอื่นอีกสองหรือสามแห่งหรือ? มหาวิทยาลัยที่ลูกเราจบมาจะรู้สึกอย่างไร? จะรู้สึกถูกตบหน้าอย่างแรงหรือไม่! การที่ลูกเรามีวุฒิปริญญาตรีสาขาบริหารธุรกิจสามใบสี่ใบ ทำให้ลูกเราบริหารงานได้ดีกว่ามีใบเดียวจริงหรือ?


คำถาม

     ถ้าเราจะเชื่อว่า คนไม่ผ่านการอบรมในหลักสูตรนักบริหาร จะบริหารไม่ได้ ก็ยังไม่ถึงกับน่าเกลียด แต่เราไม่ควรปล่อยให้ข้าราชการเข้ารับการอบรมในหลักสูตรที่มีเนื้อหาไม่ต่างกันอย่างเป็นนัยสำคัญ เกินกว่าหนึ่งหลักสูตร

     จะดีกว่าไหม ถ้าเราจะนำเงินที่ใช้ในการลงทุนให้ข้าราชการระดับสูงเข้ารับการอบรมในหลักสูตรที่ไม่ต่างกันเป็นนัยสำคัญ ซ้ำ ๆ ซาก ๆ ไปใช้ในการอื่นที่เป็นประโยชน์กว่า เหมือนกับการเลือกดื่มน้ำเก๊กฮวยแทนการกินก๋วยเตี๋ยวชามที่สอง

     จะดีกว่าไหม ถ้าเราจะตั้งกติกาเกี่ยวกับการเข้ารับการอบรมในลักษณะนี้ใหม่ เช่น ภายในสองถึงสามปี ให้ข้าราชการระดับสูงเลือกเข้ารับการอบรมในหลักสูตรเหล่านี้ได้เพียงหลักสูตรเดียว! ผลพลอยได้จากการนี้ คือ ทุกฝ่ายจะแข่งกันพัฒนาหลักสูตรของตน จนในที่สุดหลักสูตรเหล่านี้ จะเป็นประโยชน์ต่อราชการจริง ๆ มิใช่เป็นประโยชน์แค่ต่อข้าราชการเท่านั้น

     จะดีกว่าไหม ถ้าเราจะมีคณะกรรมการกลางทำหน้าที่ประเมินเทียบเคียงหลักสูตรเหล่านี้ เพื่อป้องกันการผูกขาด!

     คำถามเหล่านี้ เป็นคำถามที่ผู้เสียภาษีอากรทุกคนต้องช่วยกันคิด ช่วยกันตอบ อย่าปล่อยให้เป็นเรื่องของข้าราชการฝ่ายเดียว


__________

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น